ผู้บริหาร

นายมงคล ชัยวุฒิ

นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย

08-9955-6886

msgคุยกับนายกเทศมนตรี

นางจิราภา ชินสรนันท์

ปลัดเทศบาลตำบลเชิงดอย

053-104900 ต่อ 36

logoข้อมูลเทศบาล

เมนูหลัก

ข่าวประชาสัมพันธ์

มารู้จักแพทย์แผนไทยกันเถอะ

  • 3 กรกฎาคม 2562
  • อ่าน 379 ครั้ง

การแพทย์แผนไทย

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สนั่น ศุภธีรสกุล
การแพทย์แผนไทยเป็นวิชาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทย ที่มีความสำคัญและอยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมีความเฉพาะในสังคมไทย เป็นการแพทย์ที่อาศัยความรู้และภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้ทดลอง ปฏิบัติจริงแล้วได้ผล แล้วจึงสะสมถ่ายทอดสืบต่อกันมา การแพทย์แผนไทยมีประวัติและวิวัฒนาการควบคู่กันกับการมีประวัติศาสตร์ของ ชาติไทย มีหลักฐานปรากฏให้เห็นในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ก่อนอาณาจักรสุโขทัย สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์แบบ จะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพ 4 ด้าน คือ

เวชกรรมไทย

เป็นการทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคตามทฤษฎีและหลักการของการแพทย์แผนไทย จากนั้นให้การรักษาตามกรรมวิธีของการแพทย์แผนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ มักให้การรักษาด้วยยาแผนไทย หรือยาสมุนไพร

เภสัชกรรมไทย

เป็นการเตรียมยา และ/หรือผลิตยาแผนไทย ซึ่งมีกรรมวิธีในการเตรียมยาทั้งหมด 28 วิธี อาทิ เช่น การเตรียมยาผง ยานัตถุ์ ยาลูกกลอน ยาเม็ดแคปซูล เป็นต้น

ผดุงครรภ์ไทย

เป็นการทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของมารดาและเด็กในหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อน คลอดและหลังคลอด ในสมัยก่อนจะต้องทำคลอดให้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ บทบาทหน้าที่ในการทำคลอดมีน้อยลง แต่เน้นในการดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอดมากขึ้น

นวดไทย

ทำหน้าที่ในการรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วยด้วยการนวด และอาจมีการใช้ยากินสมุนไพรควบคู่ไปด้วยจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์แบบนั้น จะต้องมีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำหน้าที่ได้ครบทั้ง 4 ด้าน แต่แพทย์แผนไทยแต่ละคนจะมีความถนัด ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านไม่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดแพทย์แผนไทยเฉพาะด้านขึ้น เช่น ยา (เก่งทางด้านการรักษาโรคด้วยการรักษาด้วยยาสมุนไพร) หมอตำแย (เก่งทางผดุงครรภ์ไทย การทำคลอด) หมอนวด (เก่งการให้การรักษาโรคด้วยการนวด)

ในการประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทย จะมีใบประกอบโรคศิลปะ 4 สาขา คือ สาขาเวชกรรมไทย (เป็นสาขาที่สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์ไทย และนวดไทย) สาขาเภสัชกรรมไทย สาขาผดุงครรภ์ไทย และสาขานวดไทย โดยผู้ที่จะสามารถประกอบโรคศิลปะในแต่ละสาขาได้นั้น จะต้องสอบผ่านและได้รับใบประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ บุคคลทั่วไปที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ไม่สามารถประกอบอาชีพเหล่านั้นได้ การได้มาซึ่งใบประกอบโรคศิลปะในแต่ละสาขานั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องได้ครบทั้ง 4 สาขาจึงจะประกอบโรคศิลปะได้ ใครได้สาขาอะไรก็สามารถประกอบโรคศิลปะในสาขานั้น ๆ ได้

เนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดและสังคมมีความต้องการใช้บริการ “การนวดไทย” สูง รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการจัดฝึกอบรมการนวดไทย เพื่อสร้างคนเข้าสู่ความต้องการของตลาดและสังคมทางด้านนี้สูง ในการฝึกอบรมของหน่วยงานเหล่านั้นในบางครั้ง มักมีการประชาสัมพันธ์ในลักษณะที่ระบุว่า “เป็นการฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย” แต่เนื้อหาของการฝึกอบรมจริงมีเพียงส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนไทย เช่น ฝึกอบรมเฉพาะการนวดไทยเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปที่มีต่อแพทย์แผนไทยว่า การเป็นแพทย์แผนไทยนั้นเป็นเพียงแค่ หมอนวด เท่านั้น ซึ่งความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนเหล่านี้ ยังเกิดกับบรรดาผู้ปกครองและนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยว่า การเข้าเรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย คือการเรียนเพื่อไปเป็น หมอนวด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน

ก็อยากที่จะทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง นักเรียน และผู้ที่สนใจว่า สาขาหลักในบรรดาสาขาต่าง ๆ ทั้ง 4 สาขาของการประกอบโรคศิลปะด้านการแพทย์แผนไทยนั้น คือ เวชกรรมไทย ซึ่งเป็นสาขาที่ยากที่สุด และใช้เวลาในการศึกษาเพื่อให้ได้รับใบประกอบโรคศิลปะนานที่สุด เปรียบเสมือนหัวใจของการแพทย์แผนไทย เช่นเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ถือเป็นสาขาวิชาหลักในบรรดาสาขาต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยกัน ดังนั้นการเป็นแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์นั้น จะต้องเป็นแพทย์แผนไทยที่สามารถประกอบโรคศิลปะได้ครบทั้ง 4 สาขาดังกล่าวข้างต้นนี้ ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของแพทย์แผนไทยมีมากกว่า การเป็นหมอนวด มากมายหลายเท่านัก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย ของคณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหลักสูตรที่สร้างผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบโรคศิลปะด้านแพทย์แผนไทยได้ครบทั้ง 4 ด้าน ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายละเอียดเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยในบทความนี้ จะเป็นการช่วยทำให้ผู้อ่านบทความมีความรู้ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ ของแพทย์แผนไทยได้มากขึ้น


แหล่งที่มา http://www.ttmed.psu.ac.th/blog.php?p=8



แชร์หน้านี้:


ลิงค์หน่วยงานต่างๆ