ข่าวประชาสัมพันธ์
5 ป 1 ข ป้องกันโรคไข้เลือดออก
- 9 มิถุนายน 2558
- อ่าน 446 ครั้ง
ไข้เลือดออก เป็นโรคหนึ่งที่มักระบาดในฤดูฝน เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค มักจะแพร่พันธุ์มากในช่วงนี้ สคร.5 แนะประชาชน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป ด้วยการปิดฝาภาชนะที่ใช้เก็บน้ำ ไม่ให้ยุงมาวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะ เช่น แจกัน จานรองตู้กับข้าว ยางรถยนต์เก่า ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยเฉพาะในเวลากลางวัน หรือแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อพ่นหมอกควันกำจัดยุง
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา กล่าวถึง โรคไข้เลือดออก ว่า เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงบินไปกัดผู้ป่วย ไข้เลือดออก แล้วไปกัดคนอื่นต่อ ก็จะแพร่เชื้อไข้เลือดออกไปสู่คนนั้นด้วย โรคนี้มักระบาดในฤดูฝน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาไหล และถ่ายอุจจาระดำเนื่องจากเลือดออก และอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา กล่าวต่อไปว่าในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ต้องป้องกันด้วยการไม่ให้ถูกยุงลายกัด และใช้หลักการ เก็บ 3 อย่าง คือ
1.เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำไปขายเป็นรายได้เสริม
2.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งยุงลายไม่เกาะพัก
3.เก็บน้ำโดยการปิดฝาโอ่ง ถัง ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
และนำหลัก 5 ป.ปราบยุงลาย ไปใช้ คือ
ป.ที่ 1 ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
ป.ที่ 2 เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน
ป.ที่ 3ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำ
ป.ที่ 4 ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง
และ ป.ที่ 5 ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย จะช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้
และที่สำคัญ อีก 1 ข คือ ขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์