ผู้บริหาร

นายมงคล ชัยวุฒิ

นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย

08-9955-6886

msgคุยกับนายกเทศมนตรี

นางจิราภา ชินสรนันท์

ปลัดเทศบาลตำบลเชิงดอย

053-104900 ต่อ 36

logoข้อมูลเทศบาล

เมนูหลัก

ข่าวประชาสัมพันธ์

วันเอดส์โลก 1 ธันวาคม รณรงค์หยุดเชื้อ HIV

  • 1 ธันวาคม 2560
  • อ่าน 616 ครั้ง

 วันเอดส์โลก ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม กำหนดขึ้นเพื่อให้คนตระหนักในอันตรายของโรคเอดส์ ที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หาย 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ยังไม่มียาตัวใดรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบโรคเอดส์มากที่สุด

          ดังนั้น จึงได้มีการพยายามหามาตรการเพื่อป้องกัน และหยุดยั้งโรคเอดส์ให้เป็นผลสำเร็จ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันเอดส์โลก" หรือ "World AIDS Day" ซึ่งเริ่มครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2531 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

           - เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อของโรคเอดส์ และการเจ็บป่วยจากโรคเอดส์ 

           - เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันโรคเอดส์ให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ

           - เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง 

           - เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ และห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์

           - เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

สัญลักษณ์วันเอดส์โลก

         สัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก คือ โบสีแดง (Red Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โพสิทีฟ (HIV-positive) กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้เป็นเอดส์ทั้งหลาย

คำขวัญวันเอดส์โลก และธีมรณรงค์วันเอดส์โลก

           ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา จะมีการกำหนดธีมและคำขวัญวันเอดส์โลกขึ้น ซึ่งคำขวัญในวันเอดส์โลกแต่ละปีมีดังนี้

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2531 Communication about AIDS : เอดส์ป้องกันได้ หากร่วมใจกันทั่วโลก 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2532 Importance of Youth in the AIDS Epidemic : เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ช่วยผู้ตกเป็นเหยื่อเอดส์  

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2533 Women are the Key to achieving health for all : สุขภาพดีไม่มีเอดส์ สตรีเพศเป็นแกนนำ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2534  Sharing the Challenge : ร่วมมือ ร่วมใจ ต้านภัยเอดส์  

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2535 AIDS : A Community Commitment : เอดส์เป็นปัญหาของทุกคน ประชาชนต้องร่วมแก้ไข 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2536 Time to Act : จริงจัง จริงใจ ขจัดภัยเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2537 AIDS and the Family : Family Takes Care -ครอบครัวทั่วไทย ห่วงใยปัญหาเอดส์ ไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2538 Share Right, Share Responsibility : เคารพสิทธิ รับผิดชอบ มอบน้ำใจ สังคมไทยปลอดเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2539 One World, One Hope : โลกนี้ยังมีหวัง รวมพลังหยุดยั้งเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2540  Children Living in a world with AIDS : สร้างสรรค์โลกใหม่ ให้เด็กไทยไร้เอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2541 Force for change world Aids campaign with young people : คนรุ่นใหม่ ร้อยใจ รวมพลัง หยุดยั้งเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2542 Listen, Learn, Live : รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทันเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2543 Men make a difference : เอดส์ลดหรือเพิ่ม เริ่มที่ผู้ชาย 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2544 I care...Do you ? : เอดส์ลดแน่ ถ้าคุณร่วมแก้ไข 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2545 Stigma and Discrimination - Live and Let Live : ทุกชีวิตมีคุณค่า โปรดอย่าตัดสินด้วยเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2546 Stigma and Discrimination - Live and Let Live : ทุกชีวิตมีคุณค่า โปรดอย่าตัดสินด้วยเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2547 Woman, girls, HIV and AIDS : เยาวชนรุ่นใหม่… เข้าใจเรื่องเพศ…ร่วมป้องกันเอดส์ 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2548 Stop AIDS Keep the promise : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2549 Stop AIDS. Keep the Promise - Accountability : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2550 Stop AIDS. Keep the Promise - Leadership : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา 

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2551 Stop AIDS. Keep the Promise - Lead - Empower - Deliver : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2552 Universal Access and Human Rights : เข้าถีงยา เข้าถึงสิทธิ พิชิตเอดส์

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2553 Act Aware : สิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ คือ สิทธิมนุษยชน

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2554 Getting to zero : เอดส์ ลดแล้ว…ลดอีก

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2555 Getting to zero : เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้
 
          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2556 "Getting to zero: zero new HIV infections. Zero discrimination. Zero AIDS related deaths" เน้น zero new HIV infections ลดการติดเชื้อรายใหม่

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2557 "Ending AIDS" เน้นไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา เพื่อยุติปัญหาเอดส์

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2558 "Ending AIDS" ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2559 "Leadership. Commitment. Impact." ขณะที่ประเทศไทยใช้ธีมรณรงค์ว่า "ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์"

          - คำขวัญวันเอดส์โลก 2560 "Right to health" สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันเอดส์โลก


โรคเอดส์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?


          โรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมีชื่อว่า ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus : HIV) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อเอชไอวี โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้อีก โรคต่าง ๆ (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า โรคฉวยโอกาส) จึงเข้ามาซ้ำเติมได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในระบบโลหิต เชื้อรา ฯลฯ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

          อย่างไรก็ตาม การที่คนเราจะได้รับเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกกันจนติดปากว่าติดเอดส์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะติดกันได้ง่าย ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน เว้นแต่จะมีช่องทางการติดที่เฉพาะจริง ๆ เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตง่าย ๆ 3 ประการ ดังนี้

          - ต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย โดยต้องมาจากแหล่งที่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะทำให้ติด ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด

          - เชื้อที่จะทำให้ติดต่อได้นอกจากเรื่องปริมาณแล้ว เชื้อต้องมีคุณภาพและแข็งแรง เช่น ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด รวมทั้งต้องมีอาหารและมีสภาพที่พอเหมาะที่จะทำให้เชื้อเติบโตได้ แต่ถ้าไปอยู่ในน้ำลาย น้ำตา เชื้อไวรัสจะอยู่ในสภาพที่เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้มันไม่แข็งแรง ไม่มีคุณภาพ เติบโตไม่ได้ หมดความสามารถที่จะทำให้ติดต่อได้

          - ต้องเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัสส่งตรงต่อเชื้อได้โดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการร่วม โดยในกรณีการร่วมเพศ ถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออยู่เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย ทางเยื่อบุช่องคลอด หรือถ้าผู้หญิงมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางปลายเปิดขององคชาต

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคเอดส์

          กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์ หรือ HIV ได้แก่

          - ผู้สำส่อนทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อเอดส์ หรือกลุ่มรักร่วมเพศ โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 84 ของผู้ติดเชื้อเอดส์ จะได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

          - ผู้ติดยาเสพติด โดยใช้กระบอกฉีดยา หรือเข็มฉีดยาเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเอดส์

          - ผู้ที่ได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หรือรับเลือดในขณะผ่าตัด

          - ทารกติดเชื้อเอดส์จากมารดาที่มีเชื้อ HIV โดยมารดาจะแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ลูกในครรภ์

สายพันธุ์ของโรคเอดส์

          เชื้อไวรัสเอดส์มีหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักดั้งเดิมคือ เอชไอวี-1 (HIV-1) ซึ่งแพร่ระบาดในแถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกากลาง, เอชไอวี-2 (HIV-2) พบแพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์อื่น ๆ ที่กลายพันธุ์มาอีกมากมาย

          ในปัจจุบันทั่วโลก พบสายพันธุ์เชื้อเอชไอวี มากกว่า 10 สายพันธุ์ กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยพบมากที่สุดที่ทวีปแอฟริกา มีมากกว่า 10 สายพันธุ์ เนื่องจากเป็นแหล่งแรกที่พบเชื้อเอชไอวี และกระจายอยู่เป็นเวลานานกว่า 70 ปี สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือในโลก คือสายพันธุ์ซี มากถึงร้อยละ 40 พบในทวีปแอฟริกา อินเดีย จีน รวมทั้งพม่า ส่วนในประเทศไทยพบเชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เอ-อี (A/E) หรืออี (E) พบมากกว่าร้อยละ 95 แพร่ระบาดระหว่างคนที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง กับสายพันธุ์บี (B) ที่แพร่ระบาดกันในกลุ่มรักร่วมเพศ และผ่านการใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น 

          ขณะที่สายพันธุ์ซีเดี่ยว ๆ ยังไม่พบในประเทศไทย พบเพียงแต่สายพันธุ์อี-ซี ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์อีในประเทศไทย และสายพันธุ์ซีจากทวีปแอฟริกา แต่ทั้งนี้ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า ประเทศไทยพบผู้หญิงชาวไทย 2 คนติดโรคเอดส์สายพันธุ์ใหม่ เป็นเชื้อเอชไอวีผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ จี และดี เรียกว่า เอจี-ดี (AG/D) และเป็นเชื้อเอชไอวีผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ อี และจี เรียกว่า เออี-จี (AE/G) ซึ่งคาดว่าจะติดมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจะมีความเข้มข้นในน้ำเมือกหรือสารคัดหลั่งมาก ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อได้ง่าย และแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์จากทวีปอื่น 

โรคเอดส์


ระยะของโรคเอดส์

          เมื่อติดเชื้อเอดส์แล้ว จะแบ่งช่วงอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ


          1. ระยะไม่ปรากฏอาการ (Asymptomatic stage) หรือระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมา จึงดูเหมือนคนมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ แต่อาจจะเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากระยะแรกเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจไม่มีอาการนานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อต่อไปให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

          2. ระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (Aids Related Complex หรือ ARC) หรือระยะเริ่มปรากฏอาการ (Symptomatic HIV Infection) ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้เห็น เช่น มีไข้สูงเกิน 37.8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน, น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 4.5 กิโลกรัม หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเดิมภายใน 2 เดือน, ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน, มีเชื้อราในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก, เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม และมีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด เป็นต้น ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นปีก่อนจะกลายเป็นเอดส์ระยะเต็มขั้นต่อไป

          3. ระยะเอดส์เต็มขั้น (Full Blown AIDS) หรือ ระยะโรคเอดส์ ในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกว่า "โรคติดเชื้อฉวยโอกาส"ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาทก็จะมีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อผู้เป็นเอดส์เข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้แล้วโดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี

โรคเอดส์



ยารักษาโรคเอดส์

          ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ มีแต่เพียงยาที่ใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสเอดส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอดส์ให้หมดไปจากร่างกายได้ ยาต้านไวรัสเอดส์ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ

          1. Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) ได้แก่ AZT ddl ddC d4T 3TC ABC รับประทานยาต้านไวรัสเอดส์

          2. Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs) ได้แก่ NVP EFV

          3. Protease Inhibitors (Pls) ได้แก่ IDV RTV Q4V NFV 

          หากรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว อาจมีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน มีผื่นตามผิวหนัง โลหิตจาง ฯลฯ ดังนั้นการรับประทานยาเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์

          จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุชัดว่า เชื้อเอชไอวีไม่สามารถแพร่สู่กันได้โดยการติดต่อในชีวิตประจำวันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการกอด การสัมผัสมือที่เป็นการทักทายแบบชาวตะวันตก หรือการปฏิสัมพันธ์ภายนอกอื่น ๆ เช่น การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้เตียงนอนร่วมกัน การใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารหรือรถแท็กซี่ร่วมกัน

          นอกจากนี้ เอชไอวีไม่ใช่โรคติดต่อทางอากาศ เหมือนกับไข้หวัด และไม่ติดต่อผ่านทางแมลง หรือ ยุง โดยทั่วไปแล้วเชื้อเอชไอวีติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีติดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย เช่น อสุจิ เลือด หรือของเหลวในช่องคลอด นอกจากนี้เชื้อเอชไอวียังสามารถติดต่อผ่านทางการใช้เข็ม หรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกันของผู้ใช้ยาเสพติด ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่


 

สถานการณ์โรคเอดส์ทั่วโลก

          โรคเอดส์ เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2424 โดยพบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากชายรักร่วมเพศคนหนึ่ง และเมื่อศึกษาย้อนหลังพบว่า โรคเอดส์นี้มีต้นกำเนิดในบริเวณทวีปแอฟริกาตะวันตก ก่อนจะแพร่ไปยังทวีปอื่น ๆ ทั่วโลก และอัตราผู้ป่วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา

          โดยในปี พ.ศ. 2546 มีการรายงานพบผู้ป่วยโรคเอดส์ ทั่วโลกกว่า 38 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ 31 ล้านคน และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อีก 7 ล้านคน ขณะที่ในทวีปเอเชียมีอัตราเพิ่มของผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก โดยในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศต้น ๆ ที่มีอัตราการรับเชื้อเพิ่ม เฉพาะรัสเซียประเทศเดียวก็มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ต่ำกว่า 860,000 คน 

          ทั้งนี้ จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวี 1 ล้านคน

วันเอดส์โลก

สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย


           สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พบว่า ในปี 2560 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ 442,127 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,801 คน เฉลี่ยวันละ 16 คน นับเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อย

           ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 จะต้องยุติปัญหาเอดส์ โดยลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 คน และลดการรังเกียจ และการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาพลงร้อยละ 90 

การป้องกันตัวเองจากโรคเอดส์

          เราสามารถป้องกันโรคเอดส์ได้โดย

          1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์
          2. รักเดียว ใจเดียว
          3. ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่อง โรคเอดส์จากแพทย์ก่อน
          4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด

หน่วยงานที่ให้การบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ และโรคเอดส์

          ผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่

          - กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร. 0-2286-0431, 0-2286-4483 

          - โรงพยาบาลบำราศนราดูร โทร. 0-2590-3737, 0-2590-3510 

          - กองควบคุมโรคเอดส์ กทม. โทร. 0-2860-8751-6 ต่อ 407-8 

          - มูลนิธิศูนย์ฮอตไลน์ โทร. 0-2277-7699, 0-2277-8811 (โทรฟรี) 

          - มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โทร. 0-2372-2222 

          - สถานบริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

          มาช่วยกันรณรงค์หยุดยั้งโรคเอดส์ อันตรายใกล้ตัวคุณ ในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ ด้วยกันนะคะ โดยผู้ที่ประเมินว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี สามารถเข้ารับคำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง เพื่อให้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง เพราะหากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี จะได้เข้ารับการรักษาทันที ทำให้วางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว เป็นการหยุดการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีได้อีกทางหนึ่ง

         ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลและสื่อต้นแบบได้ที่เว็บไซต์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ aidssti.ddc.moph.go.th หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 10.23 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
lib.ru.ac.th
aidsthai.org
moph.go.th
สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์



แชร์หน้านี้:


ลิงค์หน่วยงานต่างๆ