ผู้บริหาร

นายมงคล ชัยวุฒิ

นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย

08-9955-6886

msgคุยกับนายกเทศมนตรี

นางจิราภา ชินสรนันท์

ปลัดเทศบาลตำบลเชิงดอย

053-104900 ต่อ 36

logoข้อมูลเทศบาล

เมนูหลัก

ข่าวประชาสัมพันธ์

ความรู้เรื่องโรคเอดส์

  • 25 พฤษภาคม 2560
  • อ่าน 202 ครั้ง

เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDSเป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้กำจัดการติดเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย จึงเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาเอดส์ให้หายขาด มีเพียงแต่ยาที่ช่วยชะลอการพัฒนาโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ หากผู้ติดเชื้อรู้ตัวและได้รับการรักษาแต่แรกเริ่ม ก็อาจช่วยไม่ให้การติดเชื้อเอชไอวีลุกลามไปสู่ระยะที่เป็นเอดส์ได้

ส่วนเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีที่มาจากลิงชิมแปนซีในทวีปแอฟริกา ซึ่งแต่เดิมคือไวรัสเอสไอวี (Simian Immunodeficiency Virus: SIV) ที่มีการระบาดและพัฒนาสายพันธุ์สู่ HIV แล้วแพร่กระจายมายังมนุษย์

เชื้อเอชไอวีจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง ไม่สามารถต่อสู้ป้องกันหรือกำจัดการติดเชื้อได้ตามปกติ เสี่ยงต่อการป่วยโรคต่าง ๆ สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางของเหลวในร่างกายที่ติดเชื้อ อย่างเลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอด โดยร่างกายจะไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้ ไม่เหมือนไวรัสบางชนิดที่ทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดและจะหายดีเมื่อเวลาผ่านไป เพราะหากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว เชื้อเอชไอวีจะคงอยู่ตลอดไป

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีที่ทำให้เป็นเอดส์ โดยจากรายงานในปีล่าสุดของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ปี 2557) พบว่าตั้งแต่ปี 2527-2557 ตลอด 30 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเอดส์เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งสิ้น 388,621 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 100,617 ราย โดยในปีถัดมา (ปี 2558) มีการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยเอดส์และติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,500,000 คน

อาการของเอดส์

เอดส์เป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะแรกเริ่มติดเชื้อ จะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ มีผื่น ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ระยะอาการสงบ มักจะไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัด หรือแทบจะไม่มีอาการป่วยเลย แต่ยังคงมีเชื้อพัฒนาอยู่ภายในร่างกาย
  • ระยะเอดส์ เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนเสียหายหนัก ทำให้เกิดการติดเชื้อและเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเอดส์มีอาการสำคัญ เช่น มีไข้อยู่ตลอดเวลา เหนื่อยล้า หมดแรง น้ำหนักลด มีเหงื่อไหลตลอดทั้งคืน ท้องร่วงเรื้อรัง มีฝ้าสีขาว หรือแผลบริเวณลิ้นและปาก

สาเหตุของเอดส์

เอดส์เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเม็ดเลือดขาวทำงานบกพร่อง โดยเชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการรับของเหลวอย่างเลือด และผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านการตั้งครรภ์ การคลอด การให้นม การใช้เข็มฉีดยาหรือสิ่งของที่มีเลือดและของเหลวของผู้ที่ติดเชื้ออยู่ เป็นต้น

การวินิจฉัยเอดส์

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและเอดส์ทำได้ด้วยการเจาะเลือด ซึ่งแบ่งเป็นการตรวจหาปริมาณ CD4 (CD4 Count) เป็นการตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในเลือด เพื่อดูความเสียหายที่เกิดจากไวรัสเอชไอวีทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นที่อยู่ของระบบภูมิคุ้มกัน การตรวจหาปริมาณไวรัสที่อยู่ในเลือด (Viral Load:  VL) และการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (Nucleic Acid Test: NAT)

การรักษาเอดส์

ในปัจจุบันไม่มียาหรือวิธีการรักษาใดที่จะกำจัดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปได้ มีเพียงแต่ยาที่จะช่วยชะลอการพัฒนาของโรค คือ ยาต้านเอชไอวี หรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirals: ARVs) หากผู้ป่วยได้รับยาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกที่ได้รับเชื้อ ยาจะออกฤทธิ์ควบคุมไม่ให้ไวรัสมีการแพร่กระจายและพัฒนาไปสู่การเจ็บป่วยในขั้นที่รุนแรงอย่างเอดส์ โดยการรับประทานยา PEP (Post-exposure Prophylaxis) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นยาฉุกเฉินที่ต้องรับประทานหลังได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนวิธีการใช้ยา ต้องรักษาด้วยการใช้ยาต้านร่วมกันหลายตัว (Antiretroviral Therapy: ART)

ภาวะแทรกซ้อนของเอดส์

เนื่องจากเอดส์เป็นภาวะขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเอดส์จะถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถต้านทานต่อโรคและการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น การติดเชื้อราทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อปาก ลิ้น หลอดอาหาร หรือช่องคลอด การติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ระบบทางเดินอาหาร ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ วัณโรค ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียอันตรายเรื้อรังที่ทำลายอวัยวะ โดยเฉพาะปอดและระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตได้

ในระหว่างที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้รับความเสียหายจากการเจ็บป่วย การติดเชื้อที่ลุกลามเหล่านี้ยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของผู้ป่วยได้อีกด้วย ทำให้มีอาการอย่างการสับสนมึนงง หลงลืม ซึมเศร้า วิตกกังวล มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือมีการแสดงออกทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่ลดลง

การป้องกันเอดส์

นอกจากจะสามารถป้องกันการพัฒนาโรคหลังได้รับเชื้อไม่ให้พัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์ได้ด้วยการรับประทานยาควบคุมอาการอย่างถูกต้องสม่ำเสมอแล้ว วิธีการสำคัญในการป้องกันเอดส์ คือป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย หรือป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายติดต่อไปยังบุคคลอื่น เช่น การรับประทานยา PrEP เป็นการรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย ต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ การป้องกันระมัดระวังในเรื่องเพศสัมพันธ์ หากจำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยา ต้องใช้เข็มที่สะอาด และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และหากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีเชื้อเอชไอวี ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาหรือรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด



แชร์หน้านี้:


ลิงค์หน่วยงานต่างๆ