ข่าวประชาสัมพันธ์
โรคเอดส์ การติดต่อ และการป้องกันที่ทุกคนควรรู้
- 30 กันยายน 2560
- อ่าน 164 ครั้ง
โรคเอดส์มีกี่สายพันธุ์
เชื้อไวรัสเอดส์นั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ เอชไอวี 1 (HIV-1) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่แพร่ระบาดอยู่ใน ยุโรป แอฟริกากลาง และสหรัฐอเมริกา ส่วนเอชไอวี 2 (HIV-2) แพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก
เนื่องจากเชื้อเอชไอวีนั้นมีด้วยกันหลายสายพันธุ์ ในปัจจุบันได้ค้นพบว่ามีมากกว่า 10 สายพันธุ์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก โดยแหล่งที่พบมากที่สุดคือ แอฟริกาซึ่งมีมากกว่า 10 สายพันธุ์ เพราะถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อเอชไอวี เป็นระยะเวลานานกว่า 70 ปี สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในโลกคือ สายพันธุ์ซี โดยมีมากถึง 40% สำหรับพื้นที่พบคือ ทวีปแอฟริกา อินเดีย จีน และพม่า ส่วนในประเทศไทยนั้น พบบ่อยคือ เชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์ เออี (A/E) หรือ (E) พบได้มากถึง 95% โดยการแพร่ระบาดนั้นเกิดจากการมีความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง กับสายพันธุ์บี (B) ที่เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มรักร่วมเพศ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันเพื่อใช้เสพยาเสพติด
สำหรับสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบเลยในประเทศไทยเลยคือ สายพันธุ์ซี แต่มีการพบสายพันธุ์ระหว่าง อี-ซี ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์อีในประเทศไทยกับสายพันธุ์ซี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และเมื่อไม่นานมานี้ ได้ค้นพบเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ใหม่ ที่ไม่เคยตรวจพบที่ใดในโลกมาก่อน เป็นการผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ คือ เอ อี และจี เรียกว่า เอ อี จี (AE/G)
การติดต่อของโรคเอดส์มี 3 ทางดังนี้
1. การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย
ซึ่งรวมไปถึงการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือแม้จะเป็นชายกับหญิงซึ่งเป็นช่องทางธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดต่อโรคเอดส์ได้ ทั้งนี้จากข้อมูลของทางกองระบาดวิทยาระบุว่า 83% ของผู้ติดเชื้อเอดส์นั้น ล้วนได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น
2. การรับเชื้อทางเลือด
การติดเชื้อเอดส์พบได้ใน 2 กรณี คือ
2.1 ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือแม้แต่การใช้กระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มของผู้ที่เสพสารเสพติด หรือฉีดยาเข้าเส้น
2.2 รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าเลือดที่รับบริจาคมามาจากแหล่งไหน แต่ในปัจจุบันนั้นได้มีการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย โดยจะนำเลือดที่รับบริจาคมาไปหาตรวจหาเชื้อเอดส์ก่อนเสมอ ดังนั้นจึงมีความปลอดภัย 100%
3. การติดต่อผ่านแม่สู่ลูก
ซึ่งเกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอดส์อยู่แล้ว แล้วเกิดการตั้งครรภ์ทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อเอดส์ไปสู่ลูก แต่ในปัจจุบัน ได้ค้นพบวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่ไปสู่ลูกได้สำเร็จแล้ว โดยวิธีการทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอดส์ของทารกลดลงเหลือ ร้อยละ 8 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ไม่ได้ปลอดภัย 100% นัก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจเลือดก่อนแต่งงานจะดีที่สุด
นอกจากนี้ เชื้อเอดส์ยังสามารถติดต่อได้อีกหลายวิธี แต่ก็มีโอกาสน้อยมาก เช่น ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่มีการทำความสะอาด การเจาะหูโดยการใช้เข็มร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์ หรือแม้แต่การสัก ไม่ว่าจะเป็นการสักผิวหนัง สักคิ้ว เพราะเชื้อเอชไอวีอยู่ในกระแสเลือดของผู้ติดเชื้อเอดส์อยู่แล้ว ดังนั้นจึงทำให้เชื้อเอชไอวี เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย นอกจากเลือดแล้ว เชื้อเอสไอวียังสามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำเหลืองได้ แต่โอกาสที่จะติดเชื้อต้องเป็นแผลเปิด และมีเลือดหรือน้ำเหลืองที่มีเชื้อเข้าไปเป็นจำนวนมากเท่านั้น
ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์
ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์มีหลายประการ คือ
- ปริมาณเชื้อเอดส์ที่ได้รับ หากได้รับเชื้อเอดส์ในปริมาณมากก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์สูงตามไปด้วย เชื้อเอดส์จะพบมากที่สุดในเลือด รองลงมาคือในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด
- การมีบาดแผล หากมีบาดแผลบริเวณผิวหนังหรือในปากก็ย่อมทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอดส์สูง เพราะเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าสู่บาดแผลได้ง่าย
- ความบ่อยในการสัมผัสเชื้อ หากมีการสัมผัสเชื้อไวรัสบ่อย โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็มีสูงขึ้น เช่น นักวิจัยที่ต้องทำการทดลอง ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัส เอชไอวี เป็นต้น
- การติดเชื้อแบบอื่น ๆ เช่น แผลเริม ซึ่งแผลชนิดนี้จะมีเม็ดเลือดขาวอยู่ที่บริเวณแผลเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ได้ง่าย และเชื้อเอดส์ก็ยังเข้าสู่บาดแผลได้ง่ายขึ้นด้วย
- สุขภาพของผู้รับเชื้อ หากคุณเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อก็เป็นไปได้ยาก แต่หากสุขภาพอ่อนแอ ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน
ควรตรวจหาเชื้อเอดส์เมื่อไหร่
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการทราบว่าตัวเองติดเชื้อเอดส์หรือไม่
- ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรือแต่งงาน
- ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนมีพฤติกรรมเสี่ยง
- ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่และตัวเด็ก
- ผู้ที่จะเดินไปทำงานต่างประเทศ เพราะต้องการข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพร่างกาย
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอดส์
ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์นั้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติทั่วไป ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ควรวิตกกังวลมากไป ซึ่งหากไม่พบโรคแทรกซ้อนจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีกหลายปี โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารได้อย่างครบถ้วน
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องมีเพศสัมพันธ์ ให้ป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยเสมอ เพราะวิธีนี้จะเป็นการป้องกันการรับเชื้อ และการแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ผู้อื่นได้
- ทำจิตใจให้สงบผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ ไม่เครียด
- หากเป็นหญิงไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะเชื้อเอดส์สามารถแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์
ในปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์หลายประการ โรคเอดส์นั้นเป็นโรคที่ไม่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัส ไม่สามารถติดต่อกันผ่านการกอด หรือการสัมผัสภายนอกร่วมกัน เช่น การใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกัน นอกจากนี้ เชื้อเอชไอวียังไม่สามารถติดต่อผ่านลมหายใจ หรือผ่านอากาศ ดังเช่นไข้หวัด และไม่ได้ติดต่อผ่านพาหะนำโรค เช่น ยุง โดยทั่วไปแล้วสาเหตุหลัก ๆ ของการติดเชื้อเอดส์นั้น เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และมีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า กว่า 80% ผู้ป่วยจะติดเชื้อเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการป้องกัน
โรคเอดส์ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมาอย่างมาก ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อ โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนเพียงคนเดียว และการงดใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพียงแค่นี้คุณก็ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอดส์ได้มากขึ้นแล้ว