ผู้บริหาร

นายมงคล ชัยวุฒิ

นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย

08-9955-6886

msgคุยกับนายกเทศมนตรี

นางจิราภา ชินสรนันท์

ปลัดเทศบาลตำบลเชิงดอย

053-104900 ต่อ 36

logoข้อมูลเทศบาล

เมนูหลัก

ข่าวประชาสัมพันธ์

สารพัดโรคร้ายจาก ภัยขยะ (ชีวจิต)

  • 18 สิงหาคม 2561
  • อ่าน 5,176 ครั้ง

สารพัดโรคร้ายจาก ภัยขยะ (ชีวจิต)

          ทุกวันนี้ขยะจากบ้านเรือนจึงมีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเราไม่สามารถกำจัดได้หมด ขยะเหล่านี้ก็จะส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคต่าง ๆ ได้ นายแพทย์สมิง เก่าเจริญ หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า ในแต่ละวันคนเราจึงมีโอกาสที่จะได้รับพิษภัยจากขยะอย่างไม่รู้ตัว ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยอันตรายที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงมาก อาจเกิดขึ้นโดยทันทีหรือสะสมในระยะยาว

          อย่างครอบครัวน้องแก้ว (นามสมมติ) หญิงสาววัย 18 ปี หนึ่งในชาวชุมชนกองขยะหนองแขม ที่เกิดและเติบโต ณ ที่แห่งนี้ เธอมีปัญหาเรื่องโรคผิวหนังตั้งแต่ยังเล็ก น้องแก้วเล่าไปพลางเกาแขนทั้งสองข้างไปว่า หากวันใดที่มีการเผาขยะ ตามตัวและใบหน้าของเธอจะมีผื่นแดงขึ้นไปทั่ว แล้วจึงกลายเป็นตุ่มน้ำใส พอเริ่มแตกจากการเกาก็จะเป็นแผล ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าแผลนั้นจะตกสะเก็ด พอเริ่มมีการเผาขยะใหม่ก็เป็นอีกครั้ง จึงทำให้ไม่หายเสียที

          ในเรื่องนี้ นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เล่าเสริมให้ฟังว่า อาการดังกล่าวของน้องแก้ว เกิดขึ้นจากการสัมผัสฝุ่นละอองและควันไฟจากการเผาขยะ ทั้งนี้ยังรวมถึงฝุ่นละอองจากเศษขยะโดยตรงได้อีก โดยถือเป็นการเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง นอกจากนั้น นายแพทย์โสภณยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า อันตรายที่เกิดขึ้นจากขยะเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ดังนี้คือ

           1.ทางผิวหนัง อย่างกรณีของน้องแก้วแล้ว ยังรวมถึงการสัมผัสหรือจับต้องโดยตรง กับสารประกอบในผลิตภัณฑ์หรือขยะมีพิษบางตัว  เช่น ยาฆ่าแมลง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ทำให้ซึมเข้าสู่ผิวหนัง กระแสเลือด และเข้าสู่ร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา 

           2.ทางการหายใจ จากการสูดดมกลิ่นขยะ ฝุ่นละออง ก๊าซหรือไอสารพิษจากขยะอันตรายบางชนิด เช่น สี ตัวทำละลาย น้ำมันรถยนต์ เมื่อเราหายใจเข้าไปก็จะเข้าไปสะสมอยู่บริเวณปอด แล้วจึงดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจหรือทำลายอวัยวะภายในได้

           3.ทางเดินอาหาร โดยการรับประทานเข้าไปทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การได้รับสารพิษปนเปื้อนจากภาชนะใส่อาหารหรือจากมือ รวมถึงสารพิษที่สะสมในรูปของห่วงโซ่อาหารในพืชผักและเนื้อสัตว์ ซึ่งสารพิษเหล่านี้จะเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ยารักษาโรคที่หมดอายุแล้ว หรือสารเคมีที่ระบุว่ามีอันตราย

โรคร้ายที่มากับ "ภัยขยะ"

          ผลการสำรวจของชีวจิตโพลโครงการ 6 ที่ระบุว่า คนในสังคมไทยรู้ว่าขยะที่ทิ้งก่อให้เกิดโรค แต่ไม่ทราบว่าขยะนั้นส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อร่างกายถึงร้อยละ 92.3 โดยโรคภัยที่มาจากขยะ4 อันดับแรก ได้แก่ ท้องร่วงท้องเสีย โรคภูมิแพ้ คลื่นไส้อาเจียน และปวดศีรษะ ตามลำดับ

          ถึงแม้โรคที่เกิดจากขยะโดยตรงนั้น จะยังไม่ปรากฎการณ์ให้เห็นอย่างแน่ชัดนักในสายตาคนทั่วไป แต่จากข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมา มีหลักฐานยืนยันว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงคือ กลุ่มคนผู้รับซื้อของเก่า ซาเล้ง ผู้คุ้ยขยะ คนเก็บขยะ และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง

          จากงานวิจัยของศิริศักดิ์ สุนทรไชย และวรรณวดี พูลพอกสิน ในปี 2548 ชี้ถึงผลกระทบทางสุขภาพของกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับขยะใน 6 จังหวัด รวม 276 คน ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้สรุปให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดมีผลการตรวจสุขภาพไม่ปกติ และกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีปริมาณแมงกานีสสูง รองลงมาคือ สารหนู ตะกั่ว และโครเมียม

          นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ คณะวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่สำรวจคนเก็บขยะชาวกัมพูชา ในปี 2531 และคนเก็บขยะชาวเวียดนามในปี 2543 พบว่า คนเก็บขยะโดยส่วนมากแล้ว มีอาการติดเชื้อและเป็นโรคเจ็บป่วยจากขยะมูลฝอยถึง 14 ชนิด ด้วยกัน เช่น อาการเจ็บคอ เป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย โรคผิวหนัง โรคมาลาเรีย โรคระบาดหลากหลายประเภท โรคหัวใจ โรคทางสมอง และอาการท้องร่วง เป็นต้น

          การวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่คนเก็บขยะเท่านั้นที่ติดเชื้อโรคจากขยะ แต่ยังคงรวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะและมีสภาพชีวิตความเป็น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

          อันตรายจากเจ้าภัยขยะนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา จนก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้างนั้น ชีวจิตรวบรวมคำตอบไว้ดังนี้ค่ะ

           1.โรคระบบทางเดินอาหาร เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ไวรัส รา แบคทีเรียในขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู ยุง แมลงสาบ และแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคติดต่อ เช่น โรคท้องร่วง โรคพยาธิต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็น ได้แก่ เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้ออหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และโรคบิด โดยเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายคนเรา จากการกินอาหารและน้ำ หรือการจับต้องด้วยมือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนเราได้โดยง่าย

           2.โรคจากการติดเชื้อ อันตรายจากขยะติดเชื้อโรค เช่น ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย กระดาษทิชชูของคนที่เป็นวัณโรคใช้ขับเสมหะหรือน้ำลาย สำลีเช็ดแผล พลาสเตอร์ปิดแผลที่ใช้แล้ว อาหารเน่าบูด และซากสัตว์ ซึ่งอาจมีเชื้อไข้หวัดนก รวมถึงอันตรายจากอุบัติเหตุ ซึ่งคนในชุมชนแห่งนี้ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับกองขยะมักเจออยู่บ่อย ๆ ได้แก่ ขยะที่เป็นวัตถุมีคม เช่น ไม้แหลม แก้วแตก และโลหะมีคม ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อบาดทะยัก หรือจากวัสดุเปื้อนเลือด เช่น เข็มฉีดยาใช้แล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและโรคเอดส์ได้

           3.โรคภูมิแพ้ เกิดได้จากการสูดดมฝุ่นละอองที่ปลิวฟุ้งกระจายมาจากเศษขยะชนิดต่าง ๆ เช่น เศษกระดาษ ฝุ่นฝ้าย ผงหมึกพิมพ์จากเศษกระดาษ ตลอดจนของเสียที่เป็นอันตรายบางชนิดที่ระเหยหรือปล่อยสารต่าง ๆ ออกมาเป็นฝุ่นผสมอยู่ในอากาศ นอกจากนี้ การเผาขยะ อาจทำให้มีสารอันตรายปะปนอยู่ในอากาศ ในรูปของไอหรือฝุ่นของสารเคมีต่าง ๆ ได้เช่นกัน

           4.ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน เกิดจากกลิ่นเน่าเหม็น ขยะมูลฝอยที่กองทิ้งไว้ ไม่มีการฝังกลบหรือจากการเก็บขยะไม่หมด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน นอกจากนี้ขยะมูลฝอยที่กองทิ้งไว้นาน ๆ จะมีก๊าซที่เกิดจากการหมักขึ้น ได้แก่ ก๊าซมีเทนหรือก๊าซชีวภาพ ซึ่งติดไฟหรือเกิดระเบิดขึ้นได้ และก๊าซไข่เน่า (ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์) ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนได้เช่นกัน

           5.โรคมะเร็ง เนื่องจากได้รับสารพิษต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจากการสูดดมอากาศเสียของการเผาขยะ ซึ่งเกิดจากการเผาขยะมูลฝอยกลางแจ้ง ทำให้เกิดควันและสารพิษปนเปื้อนในอากาศ เช่น สารไดออกซินและฟิวแรนระหว่างการเผา ซึ่งสารทั้งสองนี้เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งและทำลายการทำงานของตับได้ นอกจากนี้ ยังมีอันตรายจากสารเคมีต่าง ๆ ของขยะพิษบางชนิด เช่น สารหนูในแบตเตอรี่มือถือ ซึ่งเป็นตัวการก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอดได้ หรือ สารเบริลเลียม ที่ใช้ในแผงวงจรหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างมือถือ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด โดยผู้ที่ได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่องจากการสูดดมจะกลายเป็นโรค Beryllicosis ซึ่งมีผลกับปอด และหากสัมผัสสารนี้จะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังอย่างรุนแรง

           6.ผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งเรื่องนี้ คุณธีราพร วิริวุฒิกร รักษาการผู้อำนวยการส่วนของเสียอันตราย สำนักจัดการกากของเสียและอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายไว้ว่า เกิดได้จากสารพิษในขยะอันตรายประเภทต่าง ๆ เช่น

สารแมงกานีส

           ผลิตภัณฑ์ที่พบ : ถ่านไฟฉาย กระป๋องสี เครื่องเคลือบดินเผา

           ผลต่อสุขภาพ : ปวดศีรษะ ง่วงนอน จิตใจไม่สงบ  ประสาทหลอน เกิดตะคริวที่แขน ขา มีอาการชา สมองสับสน สมองอักเสบ 

สารปรอท

           ผลิตภัณฑ์ที่พบ : หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดนีออน กระป๋องยาฆ่าแมลง กระจกส่องหน้า

           ผลต่อสุขภาพ : ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เหงือกบวมอักเสบ เลือดออกง่าย ปวดท้อง ท้องร่วงอย่างแรง มีอาการสั่น กล้ามเนื้อกระตุก และเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงการพิการแต่กำเนิด

สารตะกั่ว

           ผลิตภัณฑ์ที่พบ : แบตเตอรี่รถยนต์ ยาฆ่าแมลง  หมึกพิมพ์  หลอดภาพในจอคอมพิวเตอร์แบบ CRT แผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

           ผลต่อสุขภาพ : ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการทางสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ชักกระตุก และหมดสติ  ที่สำคัญ การได้รับสารนี้ในระยะยาวมีผลต่อไตและความพิการแต่กำเนิด

สารแคดเมียม

           ผลิตภัณฑ์ที่พบ : ถ่านนาฬิกาควอตซ์ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ 

           ผลต่อสุขภาพ : ทำลายระบบประสาท ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไตและกระดูก ทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต ปวดในกระดูก

สารฟอสฟอรัส
          
           ผลิตภัณฑ์ที่พบ : ยาเบื่อหนู แผงวงจรโทรศัพท์มือถือ กระป๋องสี 

           ผลต่อสุขภาพ : เหงือกบวม เยื่อบุปากอักเสบ ทำลายระบบประสาทและระบบย่อยอาหาร

สารประเภทอื่น

           ผลิตภัณฑ์ที่พบ : สเปรย์ ยาย้อมผม ยาทาเล็บ ยารักษาโรค เครื่องสำอางหมดอายุ ยาฆ่าแมลง

           ผลต่อสุขภาพ : เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และเยื่อบุทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ หายใจขัด เป็นลม

          นอกจากนี้ ขยะยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษของน้ำ มลพิษของดิน และมลพิษของอากาศ เพราะขาดการเก็บรวบรวมและการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของโลกเราได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น การเผาขยะในเมืองใหญ่ ๆ ก็จะเป็นมลพิษในอากาศ เกิดแก๊สพิษต่าง ๆ และแก๊สเรือนกระจก เป็นผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

          ทางออกสำหรับเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เพียงการหาพื้นที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่ หรือโรงงานเผาขยะรุ่นใหม่เท่านั้น หากในระยะยาวแล้ว "การหาวิธีลดปริมาณขยะ" โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งของเหล่านี้อย่างรู้คุณค่า และมองว่าขยะทุกชิ้นก็คือทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกเรา 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก



แชร์หน้านี้:


ลิงค์หน่วยงานต่างๆ